ปราสาทเมืองสิงห์



 
สำหรับผู้ที่ไม่เคยรู้จัก " ปราสาทเมืองสิงห์ " มาก่อน ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อเสียงเรียงนาม คงชวนให้เข้าใจว่า โบราณสถานดังกล่าว อาจตั้งอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี แต่แท้จริงแล้ว ปราสาทเมืองสิงห์ บ้างเรียกสั้นๆ ว่า "เมืองสิงห์" หรือชื่อเรียกเป็นทางการ คือ "อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์" นั้น อยู่ในตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
 

ปราสาทเมืองสิงห์ มีจุดมุ่งหมายสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธศาสนสถานในพุทธศาสนา นิกายมหายาน จากการขุดตกแต่งของกรมศิลปากรที่ค่อยทำค่อยไปตั้งแต่ พ.ศ. 2478 แต่มาเริ่มบุกเบิกกันจริงจังเมื่อ พ.ศ. 2517 แล้วเสร็จเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2530  จึงสวยงามดังที่เห็นอยู่ในวันนี้   ปราสาทเมืองสิงห์นี้กล่าวว่าสถาปัตยกรรม  และปฏิมากรรม คล้ายคลึงกับของสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1720 - 1780) กษัตริย์นักสร้างปราสาทแห่งขอม จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร พบศิลปกรรมที่สำคัญยิ่งคือพระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และ นางปรัชญาปารมิตา และยังพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอีกองค์หนึ่ง รูปลักษณ์คล้ายกับที่พบในประเทศกัมพูชา


ปัจจุบันกรมศิลปากรได้นำไปเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แล้ว คงเหลือแต่องค์จำลองไว้ จากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา ซึ่งจารึกโดย พระวีรกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีข้อความสรรเสริญความกล้าหาญ และการบุญกุศลของพระเจ้า ชัยวรมัน ที่ 7 ทั้งนี้มีตอนหนึ่ง กล่าวถึงชื่อเมืองต่างๆ 6 เมือง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเมืองในภาคกลางของไทย ได้แก่ ลโวทยะปุระ สุวรรณปุระ ศัมพูกะปัฏฏนะ ชัยราชบุรี ศรีชัยสิงห์บุรี และศรีชัยวัชรบุรี ซึ่งเข้าใจกันว่า เมืองศรีชัยสิงห์บุรี ก็คือ เมืองสิงห์ ที่ตั้งของปราสาทเมืองสิงห์ ในจังหวัดกาญจนบุรีนั่นเอง และยังมีชื่อของเมือง ละโวธยปุระ หรือ ละโว้ หรือลพบุรี ที่มีพระปรางค์สามยอด เป็นโบราณวัตถุร่วมสมัย
 
 
แต่ในเรื่องดังกล่าวรองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เห็นว่าการที่นำเอาชื่อเมืองที่คล้ายคลึงกันในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปเปรียบเทียบกับบรรดาเมืองในเส้นทางคมนาคมในจารึกปราสาทพระขรรค์อย่างง่ายๆ โดยไม่คำนึงถึงหลักภูมิศาสตร์ เท่ากับเป็นการบิดเบือนความจริงอย่างมักง่าย เพราะบรรดาปราสาทขอมที่เรียกว่าอโรคยาศาลนั้นมักพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มีพบบ้างในบางส่วนของจังหวัดปราจีนบุรี  ซึ่งปัจจุบันได้แยกเป็นจังหวัดสระแก้ว) และมีรูปแบบแตกต่างจากปราสาทขอมที่พบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างสิ้นเชิง  ตรงข้ามกับบรรดาปราสาทของที่พบบนเส้นทางคมนาคมจากละโว้ถึงเพชรบุรีและปราสาทเมืองสิงห์ แต่ละแห่งก็มีรูปแบบที่แตกต่างออกไป จะมีความคล้ายคลึงกันแต่รูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และนางปรัชญาปารมิตาที่บ่งชี้ว่าน่าจะแพร่หลายมาจากเมืองละโว้ และพระโพธิสัตว์บางองค์นำมาจากเมืองพระนครก็มี แต่หลักฐานทั้งหมดก็มิได้ปฏิเสธความสัมพันธ์ทั้งสังคมและวัฒนธรรมระหว่างละโว้กับเมืองพระนครในกัมพูชา ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมืองสิงห์เป็นเมืองหน้าด่าน รัชกาลที่ 4 โปรดให้เจ้าเมืองสิงห์เป็น พระสมิงสิงห์บุรินทร์ แต่สมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล จึงยุบเมืองสิงห์เหลือแค่ตำบล

 
ด้วยทำเลที่ตั้งเมืองสิงห์ อยู่บนพื้นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย และมีเทือกเขาล้อมรอบ ทำให้พื้นที่ลาดเทลงมาทางลำน้ำแควน้อย จึงเป็นผลดีให้ดินบริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มาก และเหมาะต่อการทำเกษตรกรรม ขณะที่ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ทำให้นักโบราณคดีพบว่า ตัวเมืองสิงห์เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีพื้นที่ราว 1 ตารางกิโลเมตร มีคูเมือง คันดิน และกำแพงเมืองศิลาแลงล้อมรอบ ที่ตำแหน่งกลางเมืองมีโบราณสถานทรงปราสาทสร้างขึ้นตามลักษณะศิลปะขอมแบบบายน 
 
 
นอกจากนี้ นักโบราณคดียังขุดค้นพบหลุมฝังศพมนุษย์และเครื่องมือเครื่องใช้ ฝังร่วมกับศพ จากบริเวณริมแม่น้ำแควน้อย นอกกำแพงเมืองสิงห์ด้านทิศใต้ โดยลักษณะที่พบคล้ายคลึงกับหลุมฝังศพที่บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งถูกกำหนดอายุอยู่ในตอนปลายยุคโลหะ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุราว 2,000 ปี สมัยต่อมาจึงเป็นช่วงที่มีการสร้างเมืองสิงห์ ดังหลักฐานปรากฏจำนวนมาก

 
จากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้เมืองสิงห์มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมมาเป็นเวลานานตามที่มีปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะโบราณวัตถุ สามารถกำหนดอายุได้ว่า เมืองสิงห์และตัวปราสาท น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับรัชสมัยของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของกัมพูชา ตามปรากฏหลักศิลาจารึก  ยังมีอีกแนวความคิดเกี่ยวกับที่มาของเมืองสิงห์ ที่เชื่อว่า น่าจะเป็นการก่อสร้างเลียนแบบปราสาทขอม สมัยหลังรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และไม่น่าจะเกี่ยวข้องอันใดกับชื่อเมืองศรีชัยสิงห์บุรี หรือศรีชัยสิงห์บุรี ในจารึกเนื่องจากเห็นว่า ลักษณะทางสถาปัตยกรรมขาดความสมดุล และความลงตัว อีกทั้งเกิดความคลาดเคลื่อนในการวางตำแหน่งอาคาร ตลอดจนจารึกที่ฐานหินทรายรองรับประติมากรรมเป็นตัวอักษรและภาษาขอมสมัยหลังเมืองพระนคร หรือหลังจากรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 รวมทั้งชื่อเมืองสิงห์ ไม่เคยปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์ใด ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


 
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเมืองสิงห์ยังปรากฏเป็นตำนานจากคำบอกเล่าของชาวพื้นเมืองว่า ท้าวอู่ทอง หนีภัยจากท้าวเวชสุวรรณโณ แล้วไปสร้างเมืองหลบซ่อนตามที่ต่างๆ โดยชื่อเมืองจะอธิบายโบราณสถานแห่งนั้นตามแนวคิดของตนกับสิ่งที่พบเห็น เช่น การตั้งชื่อเมืองว่า กลอนโด่ เพราะสภาพโบราณสถานเหลือเพียงซาก เนื่องจากผู้เล่าเห็นว่า เป็นกลอนประตูทิ้งอยู่ ดังนั้น เมืองครุฑและเมืองสิงห์ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ของผู้เล่าที่พบรูปครุฑ และรูปสิงห์ถูกทิ้งร้างอยู่ที่โบราณสถานแห่งนั้น แม้ที่มาของเมืองสิงห์จะมีถึง 3 แนวคิด แต่การทำงานของนักโบราณคดี สามารถสรุปลักษณะของเมืองสิงห์ได้ว่า มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเนื้อที่ 641 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลง ขนาดกว้าง 88 เมตร ส่วนแนวด้านเหนือถึงใต้ ยาวจรดแม่น้ำ 1,400 เมตร ตัวกำแพงสูง 7 เมตร มีประตูทางเข้า-ออก 4 ด้าน


 
กำแพงด้านในถมดินลาด ด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศตะวันตกมีคูน้ำคันดิน ล้อมรอบอีก 7 ชั้น ส่วนทางทิศใต้ กำแพงเมืองคดโค้งไปตามลำน้ำแควน้อย โดยใช้ลำแม่น้ำเป็นคูเมือง ภายในตัวเมืองมีสระน้ำ 6 สระ และสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนาอีก 4 แห่ง


ผู้ที่สนใจเทียวชมร่องรอยประวัติศาสตร์ของเมืองสิงห์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. ค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 40 บาท สอบถามเพิ่มเติมโดยตรงได้กับอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ 034-528456-7.

 
ปราสาทเมืองสิงห์ ปราสาทเมืองสิงห์ Reviewed by Supakorn.farm on สิงหาคม 14, 2556 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.